สูตร IF คืออะไร?
สูตร IF (หรือจะเรียกให้ถูกคือฟังก์ชั่น IF) คือ ฟังก์ชั่น (Function) ที่เราจะโยนเงื่อนไขให้ไปตรวจสอบ ถ้าเงื่อนไขมีผลลัพธ์เป็นจริง (TRUE) จะทำการคำนวณแบบนึง ถ้าเงื่อนไขเป็นเท็จ (FALSE) จะคำนวณอีกแบบนึง
สูตร IF เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่ใช้บ่อยมากถึงมากที่สุดอันหนึ่งของ Excel เลยทีเดียว ดังนั้นทุกคนที่ต้องการจะเก่ง Excel จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สูตรนี้ให้เป็นนะครับ
วิธีเขียนสูตร แบบเป็นทางการ
=IF(logical_test, [value_if_true], [value_if_false])
ประเภท Argument ที่ใส่ลงไป
=IF(ตรรกกะ จริง เท็จ, ค่าอะไรก็ได้ เป็นสูตรก็ได้, ค่าอะไรก็ได้ เป็นสูตรก็ได้)
ประเภทผลลัพธ์ที่ได้จากฟังก์ชั่น
เป็นไปตามผลจริงเท็จ ว่าเป็นค่าประเภทไหน
วิธีเขียนสูตร ภาษาชาวบ้าน
=IF(เงื่อนไขที่เราโยนเข้าไปให้ทดสอบ, [ถ้าจริงจะทำอันนี้], [ถ้าเท็จจะทำอันนี้])เช่น หากเทียบกับภาษาพูด จะได้ว่า
- ถ้า ฉันสอบตก ฉันจะเลี้ยงข้าว ไม่งั้น เธอเป็นคนเลี้ยงข้าว
- ฉันสอบตก = เงื่อนไข
- ฉันเลี้ยงข้าว = การกระทำหากเงื่อนไขเป็นจริง
- เธอเป็นคนเลี้ยงข้าว = การกระทำหากเงื่อนไขเป็นเท็จ
ซึ่งเงื่อนไขที่เราโยนเข้าไปให้ทดสอบ นั้นจะต้องมี ตัวเปรียบเทียบ (COMPARISON OPERATOR) อยู่ด้วย เพื่อให้ค่าออกมาเป็นจริง (TRUE) หรือเท็จ (FALSE) เช่น
- = เท่ากับ
- < น้อยกว่า
- > มากกว่า
- <> ไม่เท่ากับ
- >= มากกว่าหรือเท่ากับ
- <= น้อยกว่าหรือเท่ากับ
ตัวอย่าง 1
หากช่อง B4 เราเขียนว่า
=IF(B2>10, 20*3,”ขี้เกียจทำ”)สิ่งที่มันจะทำคือดูว่าค่าใน B2 มากกว่า 10 หรือไม่?
- สมมติว่าค่าใน B2 เป็น 15 =>เงื่อนไขเป็นจริง =>คำนวณ 20*3 => แสดงค่า 60 ในช่อง B4
- สมมติว่าค่าใน B2 เป็น 7 => เงื่อนไขเป็นเท็จ =>แสดงค่า “ขี้เกียจทำ” ในช่อง B4
หากมีหลายเงื่อนไขจะทำอย่างไร?
โดยหากมีหลายเงื่อนไข เราสามารถเอาแต่ละเงื่อนไขมาเชื่อมกับฟังก์ชั่นทางตรรกกศาสตร์ ได้อีก เช่น
- AND(เงื่อนไข1,เงื่อนไข2,เงื่อนไข3,…) => และ : ต้องเป็นจริงทุกอัน ถึงจะออกมาเป็นจริง
- OR(เงื่อนไข1,เงื่อนไข2,เงื่อนไข3,…) => หรือ : หากอันใดอันหนึ่งจริงถือว่าจริง
ตัวอย่าง 2
หากช่อง B4 เราเขียนว่า
=IF(AND(B2>10,B3<=5), 20*3,”ขี้เกียจทำ”)สิ่งที่มันจะทำคือดูว่าค่าใน B2 มากกว่า 10 และ B3น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 หรือไม่?
- สมมติว่าค่าใน B2 เป็น 15 และ B3 เป็น 4 =>=> เงื่อนไขเป็นจริง =>คำนวณ 20*3 => แสดงค่า 60 ในช่อง B4
- สมมติว่าค่าใน B2 เป็น 15 และ B3 เป็น 6 => เงื่อนไขเป็นเท็จ =>แสดงค่า “ขี้เกียจทำ” ในช่อง B4
การเขียน IF ซ้อน IF
เราสามารถเขียน IF ซ้อนกันไปเรื่อยๆ ได้ (จริงๆแล้วจะเอาฟังก์ชั่นอื่นมาซ้อนด้วยก็ยังได้)
โดย IF แต่ละตัวก็จะมีการเช็คเงื่อนไขของตัวเอง และทำค่าจริง/เท็จ ของตัวเองแล้วแต่ผลลัพธ์ที่ประมวลได้ เช่น
เทคนิคการเขียน IF ซ้อนกันหลายตัว
- จำนวนวงเล็บเปิดต้องเท่ากับวงเล็บปิด (ในที่นี้มีอย่างละ 4 อันเท่ากัน)
- ในแต่ละกิ่งที่ จริง /เท็จ เราสามารถเลือกที่จะใส่ IF ซ้อนลงไปอีกหรือไม่ก็ได้ ลองดูได้จากตัวอย่างที่จะเห็นต่อไป
ตัวอย่าง 3
หากเราต้องการจะจัดเกรดจากคะแนนดิบของนักเรียน โดยมีเกณฑ์ดังนี้
- คะแนน <50 : F
- 50 <= คะแนน<60 : D
- 60 <= คะแนน<70 : C
- 70 <= คะแนน<80 : B
- คะแนน >= 80 : A
สมมติคะแนนดิบอยู่ในช่อง A2 และเราจะใส่เกรดในช่อง B2 / ในช่อง B2 เราต้องเขียนดังนี้
=IF(A2<50,”F”,IF(A2<60,”D”,IF(A2<70,”C”,IF(A2<80,”B”,”A”))))อธิบายแนวคิด
ให้ใส่เงื่อนไขทีละ Step อันแรกเช็คว่าน้อยกว่า 50 หรือไม่? ถ้าน้อยกว่าให้แสดงเกรด F ถ้าไม่น้อยกว่า ต้องเช็คต่อว่า < 60 หรือไม่?… ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ
หวังว่าเพื่อนๆ อ่านแล้วจะเข้าใจมากขึ้นนะครับใครอ่านแล้วสงสัยตรงไหน หรือมีข้อแนะนำอะไร อย่าลืม Comment ในนี้ หรือมาพูดคุยกันได้ใน Facebook นะครับ
Function อื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดูได้ที่เพจ รวมฮิตสูตรที่ใช้บ่อยๆ